แผนกกายภาพบำบัดและแพทย์แผนจีน

แผนกกายภาพบำบัด

แผนกกายภาพบำบัดให้บริการดูแลรักษาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้มารับบริการ ภายใต้ความดูแลของทีมนักกายภาพบำบัดพร้อมด้วยเครื่องมือ และโปรแกรมการรักษาฟื้นฟูตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยวางแผนการรักษาร่วมกับทีมแพทย์ พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพ เพื่อการดูแลอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัย นำไปสู่ความพึงพอใจของผู้มารับบริการ เรามุ่งหมายให้ผู้รับบริการที่ได้รับการรักษาและฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดกลับไปมีสุขภาพที่ดี สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพให้ความรู้ และความเข้าใจในการดูแล และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ

บริการของเรา

ดูแลรักษาฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยดังต่อไปนี้

1. ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ด้วยวิธี การยืดเหยียด การประคบร้อน/เย็น ออกกำลังกาย และใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อลดปวด

2. ผู้ป่วยโรคระบบประสาท ด้วยเทคนิคและโปรแกรมการฝึกผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อน / อัมพาตครึ่งซีก การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

3. ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและทรวงอก ด้วยวิธีการจัดท่า การเคาะปอด การสั่นรัวปอด การฝึกหายใจ การสอนไออย่างมีประสิทธิภาพ และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการขยายตัวของทรวงอก

เทคนิคและเครื่องมือเพื่อการรักษาทางกายภาพบำบัด

  • Manual Therapy การรักษาด้วยเทคนิคทางกายภาพบำบัด การปรับท่าทางการใช้งานกล้ามเนื้อเพื่อลดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกาย ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง การปรับโครงสร้างทางกายวิภาคด้วยเทคนิคเฉพาะ ในผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ไมเกรน เส้นประสาทอักเสบ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการอบรมเฉพาะทาง
  • เครื่องมือทางกายภาพบำบัด ที่ทันสมัยและถูกทบทวนจากงานวิจัยจากหลายสถาบันว่ายังคงให้ผลการรักษาที่ดีควบคู่ไปกับการใช้ Manual Therapy
  • Deep heat Therapy  เครื่องมือที่ให้ความร้อนลึกเพื่อลดการเกร็งตัวของชั้นกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนเลือด ได้แก่ คลื่นเหนือเสียง Ultrasound Therapy, คลื่นความร้อนลึกจากคลื่นความถี่วิทยุTransfer Energy Capacitive and Resistive (TECAR)
  • Electrotherapy เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในคลื่นความถี่ชนิดต่างๆ เพื่อผลลดความเจ็บปวด หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อลดการเกร็งตัวและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • Repetitive Peripheral Magnetic Stimulation (rPMS) หรือเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัดชนิดหนึ่ง ที่ใช้เพื่อปล่อยสนามแม่เหล็ก ในความถี่ต่าง ๆ เป็นชุด ๆ เข้าไปที่บริเวณที่มีอาการปวด สนามแม่เหล็กจะเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่เส้นประสาทหรือปลายประสาทรับความรู้สึก ทำให้มีการสื่อกระแสประสาทไปตามประแสประสาทรับความรู้สึก และลดอาการปวดได้ นอกจากนั้นแล้วกระแสไฟฟ้าที่ไปตามเส้นประสาทยังกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมีอาการหดและคลายตัวสลับกัน ทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น

แผนกแพทย์แผนจีน

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีประวัติสืบทอดมายาวนานกว่า 5,000 ปี ถึงปัจจุบันพบว่าความนิยมได้แพร่หลายไปในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ให้การยอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดโรคควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

หลักการของแพทย์แผนจีน

เน้น “การปรับสมดุล” ของร่างกายเป็นหลัก ศาสตร์แพทย์แผนจีนเชื่อว่า การที่ร่างกายของคนเราเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยขึ้นนั้นเป็นเพราะร่างกายเกิดภาวะเสียสมดุล ดังนั้นหากสามารถทำให้ร่างกายกลับคืนสู่ภาวะสมดุลได้ ร่างกายก็จะกลับมาแข็งแรงจนสามารถกำจัดโรคได้ด้วยตนเอง โรคหรืออาการผิดปกติต่าง ๆ ก็จะหายไป

การบำบัดโรคตามศาสตร์แพทย์แผนจีนเพื่อให้ร่างกายคืนสู่สมดุลนั้นมีหลายวิธี อาทิ การฝังเข็ม, ครอบแก้ว, การนวดทุยหนา, กวาซา, การใช้ยาสมุนไพรจีน เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีใด อาจใช้วิธีเดียวหรือผสมผสานหลาย ๆ วิธี  ก็ขึ้นกับโรคหรืออาการที่ผู้ป่วยเป็น

โรคใดบ้างที่สามารถรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน

การแพทย์แผนจีนสามารถรักษาได้เกือบทุกโรค เพราะการรักษาแบบแพทย์แผนจีนจะมุ่งสร้างสมดุลให้กับร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงจนสามารถเยียวยาตนเองได้ ดังนั้นท่านที่มีปัญหาสุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาการผิดปกติที่ระบบใด สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนได้ โดยแบ่งโรคหรืออาการต่าง ๆ พอสังเขปได้ 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มอาการปวดบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ กล้ามเนื้ออักเสบ Office syndrome ปวดคอ / บ่า / ไหล่ ข้อไหล่ติด สะบักจม ปวดหลัง ปวดเอวร้าวลงขา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม ปวดฝ่าเท้า (โรครองช้ำ) โรคไขข้ออักเสบ

2. อาการและโรคทั่วไป ได้แก่

  • โรคที่เกี่ยวกับระบบการสืบพันธุ์ของสตรี อาทิ ปวดประจำเดือน รอบเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยาก อาการวัยทอง
  • ปวดศีรษะ ไมเกรน ภูมิแพ้
  • โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับความเครียด คิดมาก วิตกกังวล นอนไม่หลับ อ่อนเพลียเรื้อรัง
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดตีบ (แขนและขาอ่อนแรง)
  • โรคเกี่ยวกับระบบลำไส้
  • เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคหรืออาการต่าง ๆ ก่อนที่แพทย์จะทำการบำบัดรักษา แพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยตามหลักแพทย์แผนจีนก่อน

การวินิจฉัยโรคตามหลักแพทย์แผนจีน มีแนวทางดังต่อไปนี้

  • การดู สังเกตสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นภายนอก เช่น ดูลิ้น สีหน้า ท่าทาง ลักษณะการนั่ง ยืน เดิน เป็นต้น
  • การฟัง ฟังเสียงพูด เสียงไอ เสียงลมหายใจ
  • ดมกลิ่น ดมกลิ่นปาก กลิ่นตัว กลิ่นอุจจาระ และกลิ่นปัสสาวะของผู้ป่วย
  • การถาม ถามถึงอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบาย ประวัติชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติครอบครัว เป็นต้น
  • การแมะ (จับชีพจร) แพทย์จะใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง สัมผัสที่ข้อมือของคนไข้ทั้งสองข้าง ซึ่งข้อมือแต่ละข้างจะสะท้อนถึงความผิดปกติของระบบอวัยวะภายในที่แตกต่างกัน การแมะจะช่วยให้แพทย์ทราบว่ามีอวัยวะใดในร่างกายที่ทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ถ้ามีแสดงว่าร่างกายเกิดภาวะเสียสมดุลขึ้นแล้ว

เมื่อได้ข้อมูลจากการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะวิเคราะห์ว่าอาการของผู้ป่วยจัดอยู่ในกลุ่มใด หรือเป็นโรคใด จากนั้นจึงจะดำเนินการรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนต่อไป

การบำบัดโรคตามศาสตร์แพทย์แผนจีน

การบำบัดโรคตามหลักแพทย์แผนจีนมีด้วยกันหลายวิธี แต่ละวิธีก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันไป ในการรักษาแพทย์อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้การรักษาร่วมอื่น ๆ เข้ามาช่วย ขึ้นอยู่กับโรคหรืออาการที่ผู้ป่วยเป็น ส่วนระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับอาการของโรคว่าเป็นมากหรือน้อยเพียงใด สำหรับการรักษาตามหลักแพทย์แผนจีน อาทิ

  • การฝังเข็ม ทั่วร่างกายของคนเรามีเส้นลมปราณ ซึ่งมีลมปราณไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา หากมีการติดขัดที่จุดใดทำให้ลมปราณไหลเวียนไม่สะดวก จะส่งผลให้เกิดอาการของโรคขึ้นได้ การรักษาด้วยการฝังเข็ม แพทย์จะใช้เข็มฝังไปที่จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณ เพื่อทำให้ลมปราณกลับมาไหลเวียนตามปกติ ทำให้อาการผิดปกติหรือโรคที่เป็นดีขึ้น
  • ครอบแก้ว แพทย์จะครอบแก้วไปตรงตำแหน่งรอยโรค เช่น บริเวณหลัง ซึ่งความร้อนภายในแก้วจะทำให้รูขุมขนในบริเวณดังกล่าวเปิดออก และเกิดการแลกเปลี่ยนความร้อนกับความชื้นและความเย็นภายในผิว ส่งผลให้เลือดลมภายในไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น
  • กวาซา เป็นการขูดพิษออกจากร่างกายโดยใช้แผ่นกวาซา ซึ่งการทำการกวาซาจะมีทั้งการขูดเพื่อบำรุงร่างกายเเละขูดเพื่อระบายพิษออก
  • การใช้ยาสมุนไพรจีน ยาจะเข้าไปรักษา เเละบำรุงร่างกาย ช่วยขับของเสีย ขับพิษ ทำให้เลือดลมเดินตามปกติระบบเลือดเเละระบบประสาททำงานได้ตามปกติ โดยแพทย์จะจ่ายเป็นยาเม็ดหรือยาลูกกลอนเม็ดเล็กๆ หรือบางรายอาจจ่ายเป็นยาห่อให้ไปต้มทานเองที่บ้าน

แพทย์แผนจีน สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง?

การแพทย์แผนจีนสามารถรักษาได้เกือบทุกโรค เพราะการรักษาแบบแพทย์แผนจีนจะมุ่งสร้างสมดุลให้กับร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงจนสามารถเยียวยาตนเองได้ ตัวอย่างโรคหรืออาการต่าง ๆ ที่รักษาได้ด้วยแพทย์แผนจีน อาทิ โรคเกี่ยวกับระบบลำไส้ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาการปวดศีรษะ ไมเกรน ภูมิแพ้ โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับความเครียด คิดมาก วิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคเกี่ยวกับระบบประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดตีบ อ่อนเพลียเรื้อรัง เป็นต้น

Q&A

1. การฝังเข็มช่วยได้อย่างไร? เจ็บไหม? ขัดกับการรักษาที่ทำหรือไม่?
ตอบ
  1. การฝังเข็มจะช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ด้วยการกระตุ้นลมปราณและเส้นประสาท เพื่อให้อวัยวะและระบบต่าง ๆ กลับมาทำงานได้ตามปกติ และช่วยระงับความเจ็บปวด
  2. ไม่เจ็บ เพราะเข็มที่ใช้มีขนาดเล็กมากเท่าเส้นผม อาจจะคล้าย ๆ การถูกยุงกัด
  3. ไม่ขัดกับการรักษาที่ทำอยู่ เราสามารถฝังเข็มร่วมกับการรักษาที่ได้รับอยู่ แต่เราต้องแจ้งให้แพทย์ที่ให้การรักษาอยู่ทราบ เพื่อจะได้ปรับการรักษา ให้เป็นผลดีต่อตัวเราเอง เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยา การฝังเข็มจะมีส่วนช่วยให้ระดับน้ำตาลลดลง จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับขนาดยา
2. การรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม มีหลักการหรือวิธีการอย่างไร
ตอบ การรักษาด้วยวิธี การฝังเข็ม รักษาโรคด้วยการใช้เข็มซึ่งมีหลายขนาด แทงลงไปตรงตำแหน่งของจุดฝังเข็มตาม อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีนการรักษาที่ได้ผลเด่นชัดเป็นพิเศษ เพื่อ กระตุ้นเส้นประสาทและลมปราณ ให้ร่างกายคลายจากอาการต่าง ๆ
3. การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน ต้องใช้หลายวิธีหรือไม่
ตอบ ในการรักษาแพทย์อาจจะใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกันไป ขึ้นอยู่กับอาการและโรคของแต่ละท่าน
4. รักษาด้วยแพทย์แผนจีนเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันได้หรือไม่
ตอบ ได้ แต่ในบางโรคหรือบางอาการที่ผู้ป่วยเป็น แพทย์อาจพิจารณาเห็นว่าการรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันจะได้ผลดียิ่งขึ้น ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาควบคู่กันไป
5. การรักษาต่อครั้งใช้เวลานานไหม ควรทำอย่างน้อยกี่ครั้งต่อสัปดาห์
ตอบ  ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 30 – 60 นาที ต่อครั้ง ทำ 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
6. การรักษาใช้เวลาเท่าไหร่ ถึงจะดีขึ้น?
ตอบ ระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับอาการของโรคว่าเป็นมากหรือน้อยเพียงใด โดยผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับอาการเบื้องต้นของแต่ละบุคคล