RSV ภัยร้ายของลูกน้อย

ไวรัส RSV คืออะไร

RSV หรือชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กเล็ก โดยเชื้อไวรัสอาจทำให้มีเสมหะมากทำให้ปอดเกิดอาการอักเสบ และทำให้เยื่อบุหลอดลม และทางเดินหายใจต่างๆ บวม จึงทำให้เด็กมีอาการเหนื่อยหอบ และหายใจลำบาก

RSV เป็นไวรัสติดต่อหรือไม่

RSV เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะผู้มีเชื้อ การไอ หรือสัมผัสเชื้อโรค โดยผู้ป่วยจะรับเชื้อไวรัสจากฝอยละอองจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อ อัตราการแพร่กระจายอยู่ที่ผู้ป่วย 1 คน ต่อคนทั่วไปเพียง 1-2 คนเท่านั้น ไม่แพร่กระจายเหมือนโรคหัด หรือคอตีบ ที่ผู้ป่วยจาม 1 ครั้ง อาจแพร่กระจายเชื้อได้ 7-12 คน

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV

เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อาการเริ่มต้นของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV

อาการผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV จะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือคล้ายปอดอักเสบ

  • เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
  • หายใจครืดคราด หายใจมีเสียงหวีด
  • มีอาการตัวเขียว
  • ไอเสียงดัง แบบมีเสมหะ
  • มีเสมหะในลำคอมาก
  • เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือหอบหืดยู่แล้ว อาจมีอาการหนักถึงขั้นหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

การป้องกันการติดเชื้อ RSV

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนเข้าใกล้ สัมผัส หรืออุ้มเด็กเล็ก เนื่องจากมือของเราอาจจะบังเอิญสัมผัสเชื้อโรคจากที่ใดที่หนึ่งแล้วไม่ได้ล้างมือ เมื่อเราสัมผัสเด็กเล็กก็อาจทำให้เด็กติดเชื้อไวรัส RSV ได้
  2. หากบุตรหลานมีอาการติดเชื้อไวรัส RSV ควรหยุดพักรักษาอาการให้หายขาด ไม่ควร
    อนุญาติให้บุตรหลานไปโรงเรียนก่อนที่อาการจะหายเนื่องจากสามารถแพร่เชื้อไวรัสให้แก่เด็กคนอื่น ๆ ได้
  3. หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กได้รับการสัมผัสโดยตรงจากคนแปลกหน้า เช่น การกอดหรือหอมแก้มเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อไวรัส RSV
  4. ใช้วิธีการสวมหน้ากากอนามัย
  5. ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ

ปัจจุบันยังพบเด็กเล็กที่ติดเชื้อ RSV หลายราย วิธีรักษาคล้ายกับโรคหวัด คือไม่มียารักษาโดยตรง แต่จะให้ยารักษาตามอาการ ดังนั้นจึงไม่ใช่โรคที่น่ากลัวมากนักแต่จะเป็นการดีกว่า จึงควรป้องกันไม่ให้บุตรหลานของท่านติดเชื้อ RSV

อ้างอิงข้อมูลจาก กองสุขศึกษากรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ กรมการแพทย์