Computer Vision Syndrome

เรียนออนไลน์อย่างไร ในยุคโควิด เด็กไม่เสี่ยงเสียตา
(Computer Vision Syndrome)

     ในยุคที่ยังต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ผู้คนต่างต้องปรับตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตออนไลน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต้องหันมาเรียนออนไลน์ และอยู่กับหน้าจอตลอดทั้งวัน ซึ่งในระยะยาวส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเรียนรู้และสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาสายตาในเด็ก อาจทำให้มีปัญหาด้านสายตา หรือ Computer Vision Syndrome ตามมาได้

    เพื่อให้สามารถรับมือกับผลเสียทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน ในบทความนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มอาการ Computer Vision Syndrome หนึ่งในปัญหาสายตาในเด็กที่กำลังพบได้มากขึ้น ทราบพฤติกรรมเสี่ยงที่ควรรู้ พร้อมแนวทางป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี

ผลกระทบการใช้สายตาในการเรียน online

    การเรียนออนไลน์โดยการใช้อุปกรณ์สื่อการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน  ที่ต้องจ้องหน้าจอต่าง ๆ เป็นเวลานาน ส่งผลกระทบกับสายตาเด็กพอสมควร หรือ Computer Vision Syndrome (CVS)  เป็นกลุ่มอาการทางสายตาและการมองเห็นที่เด็ก  ต้องเจอ เมื่อใช้งานคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ  ทั้งภาวะตาล้า ภาวะสายตาสั้นเทียม (เด็กบอกมองไกลไม่ชัด หลังใช้อุปกรณ์) ภาวะกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติ และในเด็กที่สายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น อาจมีค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วได้

สาเหตุและอาการ ที่ผู้ปกครองควรสังเกต

  • สาเหตุปัญหาสายตาในเด็ก

    เมื่อบุตรหลาน ของท่านเรียนออนไลน์ในสภาพแวดล้อมในการเรียนที่ไม่เหมาะสม เช่น แสงไม่เพียงพอ หน้าจออยู่ใกล้เกินไป รวมไปถึงโต๊ะ เก้าอี้ที่ส่งผลต่อการนั่ง และระดับสายตาในการมองหน้าจอ โดยจะพบอาการ Computer Vision Syndrome ถึง 90% ในเด็กที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ติดกันโดยไม่หยุดพักเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง

เนื่องจากโดยธรรมชาติ ดวงตาของเราต้องปรับโฟกัสเพื่อให้มองภาพชัดในระยะที่เหมาะสม การใช้คอมพิวเตอร์ที่มีการเคลื่อนไหว การสลับหน้าจอไปมา รวมไปถึงการตัดกันของสีต่าง ๆ ทำให้ต้องเพ่งสายตาเป็นเวลานาน ดวงตากะพริบน้อยลง ทำให้ปวดกระบอกตา และตาแห้งได้ง่ายขึ้น

  • อาการที่ควรสังเกต

    ปัญหาทางโรคตาของเด็กต้องอาศัยความเอาใจใส่และการสังเกตของคุณพ่อคุณแม่เพราะปัญหาทางสายตาบางอย่างอาจแสดงออกไม่ชัดเจนเหมือนโรคทางกายอื่นๆ พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ๆ ในช่วงโควิดที่ต้องเรียนออนไลน์เช่นนี้ ควรสังเกตอาการบุตรหลานว่ามีความเสี่ยง Computer Vision Syndrome  หรือไม่ โดยจะมีอาการทางตาที่สังเกตได้ คือ  เด็กมักจะขยี้ตาบ่อย ๆ  มีน้ำตาไหล เพราะรู้สึก ปวดกระบอกตา แสบเคืองตา ตาล้า สู้แสงไม่ได้ ตาแห้ง โฟกัสได้ช้า ตาพร่ามัว เด็กบางคนอาจรู้ปวดศีรษะร่วมด้วย

หากละเลยอาการเหล่านี้ไป  เด็ก ๆ จะมีอาการตาแห้งมากขึ้น ทำให้กระจกตาถลอก เป็นแผล ส่งผลไปถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อและอย่างร้ายแรงคือส่งผลต่อการมองเห็นได้และในอนาคตจะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสายตาสั้นได้มากขึ้น โดยมักจะเป็นร่วมกับอาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ ปวดหลังและปวดศีรษะ

วิธีแก้ไขและดูแล ถนอมสายตาให้บุตรหลาน

1.หมั่นพักสายตาเป็นระยะ
เมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็ก ๆ พักสายตาจากหน้าจอทุก 20 นาที มองให้ไกลออกไป 6 เมตร เป็นเวลา 20 วินาที และหยุดพัก ให้ลุกขึ้นเดินบ้าง ขยับเปลี่ยนท่าทาง เป็นเวลา 15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง

2.ปรับความสว่าง
เพื่อลดภาระของดวงตา ควรปรับแสงสว่างในห้องและหน้าจอให้เหมาะสม ไม่มืดและไม่จ้าเกินไป ปรับสีของตัวอักษรให้มองเห็นได้ชัดเจน หรือใช้แผ่นกรองแสงติดหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อลดแสงสะท้อน ทำให้มองภาพได้สบายตาขึ้น

3.กะพริบตาบ่อย ๆ
เพราะต้องเพ่งสายตาไปที่หน้าจอเป็นเวลานาน ทำให้มีการกะพริบตาน้อยลงโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงควรพยายามกะพริบตาบ่อย ๆ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ดวงตา ช่วยลดอาการตาแห้งและระคายเคืองได้

4.ปรับระดับการมองจอให้เหมาะสม
ในการจัดสภาพแวดล้อมและท่าทางให้เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยระยะจากหน้าจอถึงดวงตา ควรห่าง 20-28 นิ้ว หน้าจอต่ำกว่าสายตา 5-6 นิ้ว ขณะนั่งเรียนศีรษะต้องตั้งตรง สายตามองต่ำลงมาเล็กน้อย

5.จัดท่านั่งให้ถูกต้อง
ในการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ เก้าอี้ควรมีพนักผิง และสามารถปรับให้วางเท้าบนพื้น เข่าตั้งฉาก 90 องศา เพื่อให้ร่างกายสบายที่สุด ไม่ควรให้นอนบนเตียงแล้วแล้วดูคอมพิวเตอร์

6.หยอดน้ำตาเทียม
หากรู้สึกว่าตาแห้ง สามารถหยอดน้ำตาเทียม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและบรรเทาอาการได้ จะช่วยให้สบายตามากขึ้น

7.ใส่แว่นสายตาที่เหมาะสม
หากมีค่าสายตาที่ไม่ปกติ และไม่ได้ใส่แว่นสายตาที่เหมาะสม จะทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตา หรือปวดศีรษะได้ ทำให้โฟกัสภาพได้ยาก รวมไปถึงภาพที่มองเห็นจะไม่คมชัด ยิ่งต้องทำให้เพ่งสายตาเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นหากรู้สึกว่าสายตาสั้นลง หรือมองภาพไม่ชัด ควรตรวจวัดค่าสายตาและใส่แว่นที่ค่ามีสายตาถูกต้อง

8.ให้ทำกิจกรรมอื่น หลังเลิกเรียน
ควรสนับสนุนให้เด็กออกไปเล่นกลางแจ้งบ้าง เมื่อเลิกเรียนแล้ว ไม่ควรให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ต่อ ดูทีวีหรือเล่นเกม

9.ตรวจสุขภาพตาเด็ก
เมื่อผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กมีปัญหาทางสายตา ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตา ปัญหาทางสายตาที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้  นอกจากสาเหตุจากการใช้งานนานแล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ  เช่น สายตาสั้นซึ่งแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นตา หากสงสัยว่าเด็กมีภาวะสายตาสองข้างไม่มองในทิศทางเดียวกันหรือปัญหาทางสายตาอื่นๆ ควรให้จักษุแพทย์ตรวจดวงตาอย่างละเอียด

โปรโมชั่นแนะนำ

    อย่างไรก็ตาม ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่มีอยู่เพียงคู่เดียวเท่านั้น  โดยเฉพาะในเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองควรใส่ใจ จัดสภาพแวดล้อมในการเรียนให้เหมาะสม หมั่นตรวจสุขภาพดวงตา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาของบุตรหลานก่อนสายเกินไป

ปัญหาสุขภาพอื่นๆ จากการเรียนออนไลน์ที่ผู้ปกครองควรรู้

    นอกจากปัญหาสายตาแล้ว ในช่วงโควิด ที่เด็ก ๆ ยังต้องเรียนเรียนออนไลน์ อีกนานพอสมควร พ่อแม่ผู้ปกครองควรรู้ปัญหาทางสุขภาพของเด็กที่เรียนออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

1.ปวดเมื่อย ปวดหลัง เพราะนั่งนาน เนือยนิ่ง
เป็นปัญหาที่พบมากที่สุดของการเรียนออนไลน์ โดยพบถึง 79.0% เนื่องจากพฤติกรรมการเรียนที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน โดยไม่ได้ขยับตัว รวมไปถึงสภาพแวดล้อม อุปกรณ์การเรียนโต๊ะ เก้าอี้ ที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เด็กหลายคนมีอาการปวดเมื่อย ปวดหลัง

2. เครียดและกังวลใจ
เกิดความเครียดและกังวลใจมากขึ้นในเด็กที่เตรียมขึ้น ม.1 ม.4 หรือเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายคนต้องเปลี่ยนแปลง เตรียมสอบ ย้ายโรงเรียน บวกกับสถานการณ์โควิดที่ทำให้ไม่ได้ออกไปพบปะผู้คน และสภาพแวดล้อมไม่สนับสนุนในการเรียนรู้ ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมากขึ้นเด็กในกลุ่มนี้

3. การบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้พักผ่อนและนอนน้อยลง
การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กหลายคนมีการบ้านเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากใช้เก็บคะแนนแทนการทำกิจกรรมที่โรงเรียนแบบปกติ และอาจทำให้จัดเวลาได้ไม่สมดุล ส่งผลต่อการพักผ่อนตามมา

4. เบื่อหน่ายไม่อยากเรียน
เนื่องจากวัยเรียนเป็นวัยที่อยู่กับเพื่อนค่อนข้างมาก และเป็นช่วงเรียนรู้ที่จะต้องเข้าสังคม แต่เมื่อต้องนั่งเรียนอยู่ที่หน้าจอตลอดทั้งวัน ไม่ได้บรรยากาศแบบในห้องเรียน ส่งผลให้หลายคนเกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่มีส่วนร่วม และไม่กระตือรือร้นในการเรียน

5. มีกิจกรรมทางด้านร่างกาย ออกกำลังกายน้อยลง
เมื่ออยู่แต่บ้านกิจกรรมบางอย่างจึงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมภายในบ้าน โดยเฉพาะการออกกำลังกาย หรือแม้แต่การขยับร่างกาย เมื่อสามารถเดินเพียงไม่กี่ก้าวก็ออกจากห้องถึงโต๊ะทานข้าว หรือเดินไปห้องน้ำได้ จึงทำให้เกิดการขยับร่างกายน้อยลง

6. สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ขาดสมาธิ
ปัญหาที่หลายบ้านเจอเมื่อต้องเรียนออนไลน์หรือแม้แต่การทำงาน จะพบว่ามีเสียงรบกวนจากคนในบ้าน หรือเสียงจากสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเข้ามารบกวนอยู่ตลอด ทำให้เสียสมาธิ และไม่ได้โฟกัสกับการเรียน

7. รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
เมื่อต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านทำให้สามารถกินได้ตลอดเวลา หากรับประทานขนมระหว่างเรียน ก็อาจทำให้ไม่หิวข้าว และมีปัญหาการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือการทานขนมขบเคี้ยวมากเกินไป และส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนได้

สรุป

จะเห็นได้ว่าการเรียนออนไลน์ยุคโควิด ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางสุขภาพของเด็ก ทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้นผู้ปกครองควรช่วยจัดตาราง และดูแลสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม เพื่อให้บุตรหลานมีสมาธิและเรียนอยู่ได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงอย่าลืมหมั่นสังเกตสุขภาพสายตา ที่ต้องใช้งานหนักมากที่สุด